การฝึกให้ชินกับโซ่และสายจูง, การฝึกสุนัขให้เดินชิด, การฝึกสุนัขให้นั่ง,
การฝึกสุนัขให้หมอบ
การฝึกสุนัขให้ชินกับโซ่และสายจูง
โซ่คอที่แนะนำคือสายโซ่คอสแตนเลสไม่ควรใช้โซ่คอหนังเพราะไม่สามารถยืดหยุ่นได้ สายจูงควรเป็นสายหนังเพราะจะไม่เจ็บมือเวลาโดนสุนัขดึง
การใช้สายโซ่จะต้องใส่ให้ถูก โดยวงกลมจะต้องอยู่ด้านบนเมื่อดึงจะคลายออกได้เอง
แต่ถ้าใส่วงกลมอยู่ด้านล่างจะไม่สามารถคลายออกทำให้สุนัขอึดอัดหรือเกิดอันตรายได้
ในครั้งแรกที่สวมปลอกคอหรือใส่สายจูงให้แก่สุนัขเรามักจะได้เห็นปฏิกิริยาที่ขัดขืนและ
ดิ้นรนต่อสู้อยู่สักพักหนึ่งแต่นี้คือธรรมชาติของสุนัขดังนั้น ผู้ฝึกต้องมีความอดทนและ
เมื่อสุนัขของเราเริ่มคุ้นเคยกับสายจูงแล้วจึงค่อยเริ่มบทเรียนได้โดยให้ผู้ฝึกถือสายจูง
ด้วยมือขวาส่วนมือซ้ายจับประคองไว้โดยให้สุนัขอยู่ด้านซ้ายมือจะเห็นว่าสายจูงจะ
พาดผ่านหน้าขาผู้ฝึกและสามารถที่จะใช้มือซ้ายกระตุกที่สายจูงได้เมื่อต้องการให้
สุนัขเข้ามาใกล้ผู้ฝึก แต่จงอย่าดึงสายจูง ควรกระตุกเบาๆ สำหรับสุนัขบางตัวที่อาจ
ต่อต้านสายจูงโดยบ้างก็อยู่กับที่บ้างก็ขัดขืนให้ผ่อยสายจูงและพูดปลอบ
ใจจนสุนัขนั่งลงแล้วจึงค่อยๆจูงเดินระยะ 2-3ก้าวและการกระตุกสายฝึกสั้นๆ
ก็อาจจะช่วยให้สุนัข เรียนรู้ในการที่จะเดินไป กับผู้ฝึกได้ ควรกล่าวชมเชยสุนัขเมื่อ
ไม่ขัดขืนหลังจากนั้น ให้เพิ่มระยะทาง การจูงไปเรื่อย ๆ การฝึกเข้าสายจูงรวมทั้งการจูง
เดินอาจกินเวลา 3-4วันเมื่อสุนัขชินกับสาย จูงแล้ว ก็สามารถ ทำการฝึกเบื้องต้น
ในเรื่องอื่นได้ต่อไป
การฝึกสุนัขให้เดินชิด
ให้นำสุนัขเข้ามาอยู่ทางซ้ายของผู้ฝึก รวบสายจูงไว้ในมือขวา สายฝึกควรจะต้อง
หย่อนเสมอ สุนัขควรอยู่ในท่ายืน ถ้าหากสุนัขยังนั่งอยู่ผู้ฝึกจะต้องคอยกระตุกสายจูงเบาๆ และดึงให้ตึงสุนัขจะยืนขึ้นเองตบที่ขาข้างซ้ายของตัวเองแล้วพูดคำว่า"ชิด"
เพื่อสอนให้สุนัขรู้จักคำว่าชิดในระยะแรกสุนัขอาจจะไม่เข้ามายืนเคียงข้างซ้ายของ
ผู้ฝึกก็อย่าเพิ่งไปดุผู้ฝึกอาจต้องพลิกแพลงวิธีการบ้างโดยการปรับตัวเองให้ยืนใน
ตำแหน่งที่ให้สุนัขอยู่เคียงข้างด้านซ้ายของผู้ฝึก จนกว่าสุนัขจะเข้าใจ
คำสั่งนี้ เมื่อสุนัขเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ฝึกเริ่มก้าวเดินด้วยเท้าซ้ายก่อน
อาจต้องดึงสายฝึกเล็ก น้อยเพื่อให้สุนัขเริ่มทำตาม พยายามเดินช้า ๆ อย่า
กระชากลากถูในขณะเดินควร ให้บ่าของสุนัขอยู่ในเนวเดียวกับขาซ้ายของผู้ฝึก
ถ้าสุนับไม่ทำตามหรือเดินล้าหลังให้กระตุกสายฝึกเบา ๆ จนกว่า
จะเดินทันกัน และอย่าลืมชมว่า "ดีมาก" เสมอ แต่หากสุนัขเดินนำหน้าอย่า
เร่งฝีเท้าหรือวิ่งตามเพราะจะยิ่งเตลิดออกไป แต่ควรดึงสายฝึกให้ช้าลงและพยายาม
เดินคู่กับสุนัข ถ้าขณะใดที่สุนัขเผลอตัวไม่สนใน อาจกระตุกสายจูง คอยเตือนให้สุนัข
สนใจในการฝึกช่วงต้น ๆ ควรให้สุนัขเดินในทางตรง จนกว่าจะเดินตามสายจูงได้ดี
ขึ้นจนน่าพอใจแล้ว จึงเริ่มต้นฝึกเดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา กลับหลังหัน เดินวนเป็นรูปเลข 8 แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นจังหวะการเดินให้ช้าบ้าง เร็วบ้าง จนถึง
วิ่งเหยาะ สลับกันไป การฝึกในระยะแรกควรใช้เวลาประมารณ 5 นาทีต่อไปก็ขยายเวลาออกไปถึง10-15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง ประมาณ 6-7สัปดาห์
สุนัขก็จะทำ ได้ดีซึ่งต่อไปสุนัขก็จะสามารถ เดินอยู่ในตำแหน่งชิดได้โดยไม่ต้องใช้สายจูง
การฝึกสุนัขให้นั่ง
หลังจากที่ได้ทำการฝึกสุนัขให้เดินได้แล้ว ต่อมาอีก 2-3 วันให้ทำการฝึกให้นั่ง
การฝึกนั่งนี้ใช้ร่วมกับการฝึกเดิน เพราะท่านั่งของสุนัขจะต้องปฏิบัติต่อนื่องกับการเดิน
คือการฝึกนั่งนี้จะสอนให้สุนัขรู้จักนั่งทันทีโดยอัตโนมัติเมื่อหยุดเดิน วิธีฝึกให้เริ่มต้น
จากการพาสุนัขเดินอยู่ในตำแหน่งชิด มือขวาถือสายจูงและสุนัขเดินตามข้างผู้ฝึก
อย่างเป็นระเบียบทางด้านซ้าย จากนั้นจึงสั่งให้สุนัขหยุดและออกคำสั่ง "นั่ง"
พร้อมกันนี้ให้ใช้มือขวาดึงสายฝึกเล็กน้อย ใช้มือซ้ายกดลงที่สะโพกสุนัขเล็กน้อย
การกดสะโพกของสุนัขให้ผู้ฝึกย่อตัวลงโดยที่เข่าจะต้องแนบไปกับลำตัวของสุนัข
เมื่อสุนัขนั่งลงเรียบร้อยแล้วให้ผ่อนมือขวาที่ดึงสายจูงพร้อมกับชมเชยสุนัข
และใช้มือตบที่ไหล่สุนัขเบา ๆ ถ้าสุนัขขัดขืนหรือทำท่าว่าจะลุกจากตำแหน่งให้สั่งว่า
"ไม่" แล้วสั่ง "นั่ง" ซ้ำอีก ข้อสังเกตุในการฝึกให้สุนัขนั่งคือผู้ฝึกจะต้องไม่สั่งให้สุนัข
นั่งในจุดเดิม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของสุนัข
การฝึกสุนัขให้หมอบ
การฝึกให้สุนัขหมอบนี้จะทำต่อเนื่องกันไปจากการฝึกนั่ง แต่อย่างไรก็ตามสุนัขจะหมอบเมื่อ
เหนื่อยหรือต้องการพัก สุนัขจะไม่ชอบให้ใครสั่งว่า "หมอบ" ถ้าไม่ได้รับการฝึกมาก่อนเพราะ
การหมอบ ของสุนัขเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการยอมรับความพ่ายแพ้ภายในฝูงซึ่งผลการ
ยอมแพ้นี้จะทำให้ไม่มีการต่อสู้เกิดขึ้นสุนัขที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง จะเรียนรู้คำสั่งหมอบนี้
ยากมาก ดังนั้นผู้ฝึกต้องระมัดระวังสุนัขโกรธเมื่อมีการใช้กำลังบังคับ โดยเฉพาะในขณะที่ผู้ฝึก
ก้มตัวลงทำท่าทางหรือบังคับสุนัขควรใช้มือซ้ายช่วย ในการป้องกันสุนัขกัดที่หน้าหรือที่ขา และการฝึกให้สุนัขหมอบควรจะเป็นการฝึกหลังจากที่สุนัขและผู้ฝึกมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
พอสมควร คำสั่ง "หมอบ" ใช้ร่วมไปกับสัญญาณโบกมือไปข้างล่างสุนัขจะต้องตอบรับ
กับเสียงที่สั่งและสัญญาณมือ แล้วจะต้องหมอบโดยฉับพลันไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่ง ยืน
หรือเดิน วิธีการฝึกสุนัขจากท่านั่งชิดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ครั้งแรกจะใช้ท่าทางและคำสั่ง
ไปพร้อมกัน ให้ผู้ฝึกใช้คำสั่ง"หมอบ" พร้อมกับกดสายฝึกด้วยมือซ้ายให้สุนัขหมอบลง
มือขวาทำสัญญาณหมอบ ถ้าสุนัขขัดขืนไม่ยอมหมอบให้ใช้มือขวาค่อย ๆ จับที่ใต้เท้า
ขวาของสุนัข ค่อย ๆ ลากไปข้างหน้าเพื่อให้สุนัขหมอบลงพร้อมกับออกคำสั่งซ้ำ ๆ
จนกว่าสุนัขจะปฏิบัติได้ตามต้องการ อย่าใช้วิธีการผลักสุนัขให้นอนลง ให้จัดท่าทาง
ขาหลังให้หมอบในท่าที่สวยงามไม่นอนขาไก่ย่าง
และเมื่อ สุนัขหมอบลงแล้วจึงสั่งให้ "คอย" อยู่กับที่โดยใช้มือซ้ายทำสัญญาณมือโดย
แบฝ่ามือเข้าหาหน้าสุนัข หากเห็นว่าสุนัขจะเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง ผู้ฝึกจะต้องแก้ไข
ทันทีโดยคำสั่ง "ไม่" แล้วจึงตามด้วยคำสั่งคอย การแก้ไขเมื่อสุนัขลุกออกจากตำแหน่ง
อย่าเคลื่อนเท้าของผู้ฝึกเองเพราะอาจทำให้สุนัขสับสน
การฝึกสุนัขให้คอย, การฝึกให้สุนัขยืน, การฝึกสุนัขให้มาหา
การฝึกสุนัขให้คอย
ถ้าจะให้สุนัขนั่งหรือหมอบอยู่ข้างเจ้าของนาน ๆ เวลาเจ้าของลุกไปทำธุระสุนัขอาจวิ่งตามอาจ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและรำคาญที่สุนัขต้องตามตลอดเวลาดังนั้นการสั่งให้สุนัขคอยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยวิธีการฝึกอาจทำได้ คือ เมื่อสุนัขนั่งหรือหมอบอยู่ ควรฝึกในท่านั่งหรือนั่งชิด เริ่มจากการสั่งให้สุนัขนั่งลงใช้มือซ้ายทำสัญญาณโดยหันฝ่ามือเข้าหาสุนัขพร้อมกับใช้คำสั่ง "คอย" ออกเสียงชัดเจนลากเสียงเล็กน้อยแล้วค่อย ๆ หมุนตัวกลับหันหน้าเข้าหาสุนัข ถ้าสุนัขไม่คอยแต่ลุกขึ้นต้องใช้คำสั่ง "ไม่" แล้วจับตัวกลับไปนั่งที่เดิมแล้วเริ่มฝึกให้คอยใหม่อีกครั้ง คราวนี้ผู้ฝึกจะเคลื่อนตัวออกห่างไปประมาณ 3 ก้าวหากสุนัขไม่ขยับตัวให้รีบชมเชยทันที เมื่อการฝึกดีขึ้นจึงถอยหลังเคลื่อนไปจนสุดสายจูง ผู้ฝึกสามารถสังเกตอาการของสุนัขได้ตลอดเวลาว่าสุนัขมีท่าทีที่จะลุกออกจากตำแหน่งหรือไม่ ขณะที่ผู้ฝึกกำลังเคลื่อนตัวออกห่างสุนัขไปจนสุดสายจูงให้เปลี่ยนสายจูงจากมือขวามาไว้ในมือซ้าย เมื่อหันหน้าเข้าหาสุนัขแล้วใช้แขนขวาโดยหันฝ่ามือยืดตรงไปยังหน้าสุนัข ถ้าสุนัขทำท่าจะลุกให้แก้ไขทันทีโดยใช้คำสั่ง "ไม่" แล้วจึงตามด้วยคำสั่ง "คอย"หลังจากที่การฝึกมีการพัฒนามากขึ้นผู้ฝึกก็ไม่จำเป็นต้องเดินถ้อยหลังไปจนสุดสายจูงแต่สมารถเดินหันหลังให้สุนัขแล้วค่อยหันหน้ากลับมาหาสุนัขได้ เมื่อสุนัขสามารถคอยในระยะปลายสุดของสายจูงได้แล้ว ต่อไปก็ให้สุนัขคอยในขณะที่เจ้าของเดินวนรอบสุนัข โดยเดินวนไปทางซ้ายของสุนัขอ้อมไปหลังสุนัขแล้วกลับมายืนข้างหลังของสุนัข และยืนที่ปลายสายจูงถือสายจูงด้วยมือซ้าย หันหน้าเข้าหาสุนัขสั่งให้ "คอย" แล้วเดินวนรอบสุนัขโดยผ่านทางซ้ายของสุนัขแล้วกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมที่ปลายสายจูงหันหน้าเข้าหาสุนัข ปฏิบัติซ้ำ ๆ จนกระทั่งสุนัขเข้าใจ สำหรับการฝึกสุนัขให้หมอบคอยก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการฝึกให้สุนัขนั่งคอย ต่างกันเพียงใช้คำสั่ง "หมอบ" แต่สำหรับการสั่งให้หมอบคอยจะไม่ใช้วิธีการเดินวนรอบตัวสุนัข แต่จะใช้วิธีการเดินข้ามตัวสุนัข โดยให้ผู้ฝึกยืนที่สุดสายจูงถือปลายสายจูงด้วยมือซ้าย หันหน้าเข้าหาสุนัขที่อยู่ในท่าหมอบ ต่อจากนั้นสั่งให้สุนัข "คอย" ให้ยกเท้าซ้ายข้ามสายจูง แล้วเดินข้ามตัวสุนัขไปจนสุดสายจูง แล้งจึงหันหลังกลับทางซ้าย ยกขาซ้ายคร่อมสายจูง แล้วเดินข้ามตัวสุนัขไปยังที่จุดเริ่มต้น หันหลังกลับทางซ้ายหันหน้าเข้าหาสุนัข การเดินข้ามตัวสุนัขนี้ต้องระวังอย่าแตะตัวสุนัขระหว่างการข้ามเพราะจะทำให้สุนัขลุกออกจากตำแหน่ง
การฝึกให้สุนัขยืน
สุนัขควรจะได้รับการฝึกให้ยืนให้ตรงจุดใดจุดหนึ่ง โดยไม่เคลื่อนที่ ถึงแม้ว่าจะมีคนแปลกหน้าเดินผ่านมาก็ตาม สุนัขจะไม่แสดงอาการดุร้าย หรือแสดงความกลัวออกมาให้เห็น การฝึกในท่ายืน ควรทำการฝึกในระหว่างที่สุนัขเดินในตำแหน่งชิดในสายฝึก ผู้ฝึกใช้มือซ้ายยื่นออกไปข้างหน้าโดยหันฝ่ามือเข้าหาหน้าของสุนัขพร้อมกับออกคำสั่ง "ยืน" และหยุด ส่วนมากเมื่อทำเช่นนี้สุนัขจะนั่ง เพราะเคยได้รับการฝึกให้นั่งมาก่อน แต่กรณีนี้ผู้ฝึกไม่ต้องการให้สุนัขนั่ง แต่ต้องการให้สุนัขยืน ให้รวบสายฝึกด้วยมือขวา กะประมาณให้พอที่จะหย่อนสายฝึกได้ แต่ต้องระวังอย่ากระตุกที่สายฝึกเพราะจะเป็นเหตุให้สุนัขนั่ง ให้หย่อนมือซ้ายลงข้างตัวสุนัข และให้สัมผัสกับส่วนหน้าของขาหลังขวาอย่างนุ่มนวล ถ้าทำเร็วพอก็สามารถทำให้สุนัขยืนได้โดยไม่ต้องยกตัวสุนัขขึ้นจากตำแหน่งนั่ง แต่ก็มีบ่อยครั้งที่สุนัขเบี่ยงตัวออก ในกรณีนี้ผู้ฝึกจะต้องปล่อยมือซ้ายข้ามหลังสุนัขไปสัมผัสกับส่วนหน้าของขาหลังซ้ายของสุนัข ให้ทำการฝึกเช่นนี้จนสุนัขเข้าใจ ซึ่งบางทีผู้ฝึกอาจต้องยกตัวสุนัขขึ้นหรือใช้สายฝึกลอดใต้ท้องสุนัขตรงใกล้กับขาหลัง ยกตัวสุนัขขึ้นเพื่อให้สุนัขยืน ซึ่งในไม่ช้าสุนัขก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า "ยืน"
การฝึกสุนัขให้มาหา
การฝึกสุนัขให้มาหา ใช้สำหรับเรียกสุนัข ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็ตามเมื่อได้ยินคำสั่ง "มา" จะต้องมาหาผู้ฝึกโดยทันทีแล้วนั่งตรงหน้าของผู้ฝึก เมื่อผู้ฝึกสั่ง "ชิด" สุนัขจะลุกขึ้นแล้วเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนั่งชิด ก่อนอื่นสุนัขต้องได้รับการฝึกให้นั่งและหมอบคอยมาก่อน ผู้ฝึกสั่งให้สุนัขคอยเกือบสุดสายฝึก แต่ระวังอย่าดึงสายฝึกจะเป็นเหตุให้สุนัขลุกขึ้น เมื่อหันหน้าเข้าหาสุนัขแล้วให้สุนัขคอยอยู่สักครู่หนึ่ง เมื่อเห็นว่าสุนัขจะไม่ลุกจากตำแหน่ง ให้เดินถอยหลังไปช้า ๆ สองหรือสามก้าว แล้วสั่งให้สุนัข "มา" พร้อมกันนั้นให้ใช้มือซ้ายกระตุกสายฝึกเบา ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำสัญญาณ "มา" ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ให้ตบที่หน้าอกเพื่อกระตุ้นให้สุนัขมาหา ในขณะเดียวกันควรพูดให้กำลังใจให้สุนัขเข้ามาหา ถ้าสุนัขยังไม่เข้ามาหาก็อาจต้องเข้าไปอุ้มมายังที่ ๆ ผู้ฝึกยืนอยู่ หรือกระตุกสายฝึกเล็กน้อย ให้ปฏิบัติจนสุนัขเข้าใจคำว่ามา ทันทีที่สุนัขลุกขึ้นผู้ฝึกจะต้องยกย่องชมเชยเมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำการฝึกซ้ำอีกจนกว่าจะไม่จำเป็นต้องดึงสายฝึกอีก และสุนัขจะมาในทันทีที่ผู้ฝึกพูดว่ามา เมื่อสุนัขเข้ามาถึงตัวผู้ฝึกแล้วจะสั่งให้สุนัข "นั่ง" พร้อมกับใช้มือขวาจับที่สายฝึกแล้วกระตุกขึ้นเล็กน้อยสุนัขก็จะนั่ง เพราะเคยได้รับการฝึกให้นั่งตามคำสั่งมาแล้ว ต่อมาจึงให้สุนัขเดินเข้ามาชิด โดยออกคำสั่ง "ชิด" พร้อมกับดึงสายฝึกจูงให้สุนัขเดินเข้ามาหาโดยการใช้มือซ้ายตบโคนขาซ้ายของผู้ฝึกแล้วสั่งให้สุนัข"นั่ง" เมื่อสุนัขปฏิบัติได้ถูกต้องให้ชมเชยสุนัข